การดำเนินการด้านสิทธิกำลังพล
คณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จพิเศษ
             (ผช.ผบ.ทร.เป็นประธานกรรมการ ผอ.สบส.กพ.ทร.เป็นเลขานุการ และ ผอ.กสม.สบส.กพ.ทร.เป็นผู้ช่วยเลขานุการ) มีหน้าที่พิจารณาบำเหน็จพิเศษตามข้อบังคับ กห.ว่าด้วยการพิจารณาบำเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉิน พ.ศ.2529 หรือตามระเบียบ กห.ว่าด้วยการพิจารณาบำเหน็จพิเศษในเวลาปกติ พ.ศ.2529 แล้วแต่กรณี ให้แก่กำลังพลของ ทร. (เว้นการพิจารณาเรื่องสิทธิกำลังพลตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี)
บำเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉิน
 
  1. นิยามศัพท์
    1. "ทหาร" หมายความว่า ข้าราชการทหาร และทหารกองประจำการ ตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521
    2. "เวลาเหตุฉุกเฉิน" หมายความว่า เวลาทำสงคราม เวลาทำการรบ เวลาทำการปราบปรามการจลาจล และเวลาปฏิบัติราชการลับ หรือปฏิบัติราชการพิเศษตามที่ กระทรวงกลาโหมกำหนด
    3. "การปะทะต่อสู้" หมายความว่า การต่อสู้ระยะประชิด หรือระยะที่อาจมองเห็นตัวบุคคล (เป็นระยะที่อันตราย)
    4. "การสู้รบ" หมายความว่า การสู้รบที่มีฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นการต่อสู่ในลักษณะระยะที่ห่างกัน ส่วนมากจะเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธที่มีขนาดใหญ่ เช่น ปืนใหญ่ หรืออาวุธจากอากาศยาน
    5. "การกระทำของศัตรู" หมายความว่า ศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามมิได้อยู่บริเวณนั้น แต่ได้กระทำการบางอย่างไว้ เช่นวางระเบิด หรือฝังทุ่นระเบิด เพื่อทำให้ทหารที่ปฏิบัติราชการได้รับอันตรายบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
    6. "การสู้รบทางเรือ" หมายความว่า ทำการต่อสู้โดยใช้อาวุธประจำเรือ ปืนฝั่ง หรือปืนที่ติดตั้งบนเกาะยิงต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามระหว่างเรือต่อเรือ ระหว่างเรือต่อบก หรือหมู่ปืนฝั่งหรือเกาะต่อเรือ
  2. อัตราที่จะได้รับบำเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉิน
    1. เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จากการต่อสู้ พิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน 9 ชั้น(สำหรับทหารกองประจำการได้เลื่อนชั้นเงินเดือนแล้ว หากยังได้รับเงินเดือนต่ำกว่า น.1 ชั้น 1 ก็ให้ได้รับ น.1 ชั้น 1 และให้แต่งตั้งยศเป็น ร.ต.)
    2. เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จากการกระทำของฝ่ายตรงข้าม หรือกระทำการบนอากาศ ใต้น้ำ หรือเกี่ยวกับวัตถุระเบิด หรือเกี่ยวกับแก๊สพิษพิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน 7 ชั้น (สำหรับทหารกองประจำการได้เลื่อนชั้นเงินเดือนแล้ว หากยังได้รับเงินเดือนต่ำกว่า ป.1 ชั้น 7 ก็ให้ได้รับป.1 ชั้น 7 และให้แต่งตั้งยศเป็น จ.อ.)
    3. เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ นอกจากกรณี 3.1 และ 3.2 (อุบัติเหตุ) พิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน 5 ชั้น (สำหรับทหารกองประจำการได้เลื่อนชั้นเงินเดือนแล้ว หากยังได้รับเงินเดือนต่ำกว่า ป.1 ชั้น 5 ก็ให้ได้รับเงินเดือน ป.1 ชั้น 5 และให้แต่งตั้งยศเป็น จ.อ.)
    4. ผู้ที่ได้ทำการสู้รบหรือต่อสู้ จนได้รับอันตราย (ไม่เสียชีวิตหรือพิการทุพพลภาพ) หรือปฏิบัติหน้าที่ในเวลาเหตุฉุกเฉินด้วยความตรากตรำเหน็ดเหนื่อย และได้ผลสมความมุ่งหมายของทางราชการเป็นอย่างดี ให้พิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน ๔ ชั้น จำนวนเงินดังกล่าวให้นับเป็นเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนเรียกว่า"เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ" (พ.ส.ร.) สำหรับข้าราชการทหาร หรือ "เงินรางวัลสำหรับการสู้รบ" สำหรับทหารกองประจำการ ส่วนการพิจารณาและสั่งการให้ได้รับ พ.ส.ร.หรือเงินรางวัลสำหรับการสู้รบ ให้ปฏิบัติตามผนวกท้ายข้อบังคับ
    5. ผู้ที่ปฏิบัติราชการในเวลาเหตุฉุกเฉินจนป่วยเจ็บถึงเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ โดยมิได้ทำการต่อสู้หรือการกระทำของฝ่ายตรงข้าม พิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน 3 ชั้น (สำหรับทหารกองประจำการได้เลื่อนชั้นเงินเดือนแล้ว หากยังได้รับเงินเดือนต่ำกว่า ป.1 ชั้น 3 ก็ให้ได้รับเงินเดือน ป.1 ชั้น 3 และให้แต่งตั้งยศเป็น จ.ท.)
    6. ผู้ที่ทำการต่อสู้หรือปฏิบัติราชการในเวลาเหตุฉุกเฉินจนถึงเสียชีวิต ไม่ว่า กรณีใด ๆ ถ้าผู้นั้นปฏิบัติราชการมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในรอบปีงบประมาณที่เสียชีวิต หรือเป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติภารกิจทางอากาศในย่านอันตรายมาไม่น้อยกว่าเที่ยวบินที่กำหนด ให้เพิ่มบำเหน็จพิเศษอีก 1 ชั้น
    7. หากมิได้กำหนดให้แต่งตั้งยศหรือเลื่อนยศให้ขอเลื่อนยศชั้นนั้นให้ด้วย ถ้าเงินเดือนเข้าขั้นหลายชั้นยศให้ขอเลื่อนยศชั้นสูง
  3. การขอรับสิทธิให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยที่ปฏิบัติงาน ดำเนินการตามสายงาน เสนอ ทร.(ผ่าน กพ.ทร.) เพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จพิเศษ พิจารณา
  4. หลักฐานประกอบการขอรับบำเหน็จพิเศษ
    1. คำสั่งการปฏิบัติหน้าที่ (ในเวลาเหตุฉุกเฉิน)
    2. บัญชีข้าราชการซึ่งสมควรได้รับบำเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉิน
    3. คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการที่หน่วยแต่งตั้งขึ้น เป็นผู้สอบสวนการเสียชีวิต หรือทุพพลภาพของผู้ไปปฏิบัติราชการ
    4. ผลการสอบสวนของคณะกรรมการ ฯ
    5. บันทึกคำให้การของผู้เกี่ยวข้อง จำนวนไม่น้อยกว่า 3 นาย
    6. รายงานการสูญเสีย (กพ.3)
    7. รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของ จนท.ตำรวจ
    8. รายงานการสอบสวนของตำรวจถึงการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ หรือสำเนาคำพิพากษาแล้วแต่กรณี
    9. สำเนาคำสั่งเลื่อนชั้นเงินเดือน
    10. แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ
    11. กรณีเสียชีวิต รายงานการชันสูตรพลิกศพ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
    12. ใบมรณะบัตร (สาเหตุการเสียชีวิต)
    13. คำสั่งย่อยของหน่วยที่สั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่
    14. ภาพถ่ายผู้ป่วยเจ็บขณะรักษาพยาบาล ภาพสถานที่เกิดเหตุ
    15. เอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาของคณะกรรมการ
บำเหน็จพิเศษในเวลาปกติ
 
  1. นิยามศัพท์
    1. "ทหาร" หมายความว่า ข้าราชการทหารและทหารกองประจำการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521
    2. "สภาพที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต" หมายความว่า กระทำการบนอากาศ ใต้น้ำ หรือ กระทำการเกี่ยวกับวัตถุระเบิด หรือเกี่ยวกับแก๊สพิษ หรือรังสีที่เป็นอันตรายแก่ร่างกาย"
  2. อัตราที่จะได้รับบำเหน็จพิเศษในเวลาปกติ
    1. เสียชีวิต หรือพิการ ในสภาพที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต พิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน 7 ชั้น (สำหรับทหารกองประจำการได้เลื่อนชั้นเงินเดือนแล้ว หากยังได้รับเงินเดือนต่ำกว่า ป.1 ชั้น 7 ก็ให้ได้รับเงินเดือน ป.1 ชั้น 7 และให้แต่งตั้งยศเป็น จ.อ.)
    2. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ โดยการกระทำของผู้กระทำความผิด พิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน 6 ชั้น (สำหรับทหารกองประจำการได้เลื่อนชั้นเงินเดือนแล้ว หากยังได้รับเงินเดือนต่ำกว่า ป.1 ชั้น 6 ก็ให้ได้รับเงินเดือน ป.1 ชั้น 6 และให้แต่งตั้งยศเป็น จ.อ.)
    3. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ โดยถูกประทุษร้าย พิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน 5 ชั้น (สำหรับทหารกองประจำการได้เลื่อนชั้นเงินเดือนแล้ว หากยังได้รับเงินเดือนต่ำกว่า ป.1 ชั้น 5 ก็ให้ได้รับเงินเดือน ป.1 ชั้น 5 และให้แต่งตั้งยศเป็น จ.อ.)
    4. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ โดยอุบัติเหตุ พิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน 3 ชั้น(สำหรับทหารกองประจำการได้เลื่อนชั้นเงินเดือนแล้ว หากยังได้รับเงินเดือนต่ำกว่า ป.1 ชั้น 3 ก็ให้ได้รับเงินเดือน ป.1 ชั้น 3 และให้แต่งตั้งยศเป็น จ.ท.)
    5. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ เพราะปฏิบัติราชการตรากตรำเร่งรัด หรือ เคร่งเครียดเกินกว่าปกติธรรมดา พิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน 2 ชั้น (สำหรับทหารกองประจำการได้เลื่อนชั้นเงินเดือนแล้ว หากยังได้รับเงินเดือนต่ำกว่า ป.1 ชั้น 2 ก็ให้ได้รับเงินเดือน ป.1 ชั้น 2 และให้แต่งตั้งยศเป็น จ.ท.)
    6. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ เนื่องจากต้องไปปฏิบัติราชการเป็นครั้งคราวนอกที่ตั้งสำนักงานประจำ หรือต้องประจำปฏิบัติราชการ ในท้องที่ทุรกันดาร ที่เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา พิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือน 1 ชั้น (สำหรับทหารกองประจำการได้เลื่อนชั้นเงินเดือนแล้ว หากยังได้รับเงินเดือนต่ำกว่า ป.1 ชั้น 1 ก็ให้ได้รับเงินเดือน ป.1 ชั้น 1 และให้แต่งตั้งยศเป็น จ.ต.)
    7. หากมิได้กำหนดให้แต่งตั้งยศหรือเลื่อนยศ ให้ขอเลื่อนยศชั้นนั้นให้ด้วย ถ้าเงินเดือนเข้าขั้นหลายชั้นยศ ให้ขอเลื่อนยศชั้นสูง
  3. การขอรับสิทธิเช่นเดียวกับบำเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉิน
  4. หลักฐานประกอบการขอรับบำเหน็จพิเศษในเวลาปกติ
    1. คำสั่งของหน่วยให้ออกปฏิบัติราชการในเวลาปกติ
    2. คณะกรรมการที่หน่วยแต่งตั้งขึ้น เป็นผู้สอบสวนการเสียชีวิต หรือทุพพลภาพของผู้ไปปฏิบัติราชการ
    3. ผลการสอบสวนของคณะกรรมการ ฯ
    4. บันทึกคำให้การของผู้เกี่ยวข้อง จำนวนไม่น้อยกว่า 3 นาย
    5. รายงานการสอบสวนของตำรวจถึงการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ว่าเป็นความผิดของตนเองหรือผู้อื่น
    6. แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ
    7. กรณีเสียชีวิต รายงานการชันสูตรพลิกศพ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
    8. ใบมรณะบัตร (สาเหตุการเสียชีวิต)
    9. คำสั่งย่อยของหน่วยที่สั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่
    10. เอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาของคณะกรรมการ