บำนาญพิเศษ

           บำนาญพิเศษ หมายถึง เงินซึ่งทางราชการจ่ายตอบแทนความชอบเป็นรายเดือน ให้แก่ ข้าราชการประจำการ ทหารกองประจำการ หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด (อส.ทพ.) ซึ่งได้รับอันตรายจนพิการ หรือป่วยเจ็บถึงทุพพลภาพจนไม่สามารถรับราชการต่อไปได้ หรือจ่ายให้แก่ทายาทของบุคคลดังกล่าว อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่หรือถูกประทุษร้าย เพราะเหตุกระทำตามหน้าที่ เว้นแต่การได้รับอันตราย ได้รับการป่วยเจ็บ หรือการถูกประทุษร้ายนั้นเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือจากความผิดของตนเอง

           ในกรณีที่บุคคลได้รับอันตรายจนถึงพิการทุพพลภาพอันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่หรือ ถูกประทุษร้าย เพราะเหตุกระทำตามหน้าที่ เรียกว่า "บำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพ" ถ้าบุคคลเสียชีวิต เนื่องจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ทายาทจะเป็นผู้มีสิทธิรับบำนาญพิเศษเรียกว่า "บำนาญพิเศษเหตุเสียชีวิต" (ทายาทรับเป็นรายเดือน) สิทธิในบำนาญพิเศษเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้



เหตุที่จะได้รับบำนาญพิเศษ

การคำนวณบำนาญพิเศษ
           กรณีทุพพลภาพ (เจ้าตัวรับ) กห.เป็นผู้พิจารณากำหนดการได้รับบำนาญพิเศษตามสมควรแก่เหตุการณ์ประกอบกับความพิการและทุพพลภาพของผู้นั้น ตามอัตราดังนี้
  • ในยามปกติ มีอัตราตั้งแต่ห้าในห้าสิบส่วน จนถึงยี่สิบในห้าสิบส่วนแห่งเงินเดือนเดือนสุดท้าย
  • ผู้มีหน้าที่ต้องไปราชการหรือปฏิบัติราชการโดยอากาศยานในอากาศหรือต้องไปราชการหรือปฏิบัติราชการโดยเรือดำน้ำ หรือมีหน้าที่ต้องทำการดำน้ำ หรือมีหน้าที่กวาดทุ่นระเบิด หรือมีหน้าที่ขุดทำลายทำหรือประกอบวัตถุระเบิด หรือมีหน้าที่เกี่ยวกับไอพิษ ถ้าได้รับอันตรายด้วยหน้าที่กระทำนั้นให้มีอัตราเป็นจำนวนกึ่งเงินเดือนเดือนสุดท้าย
  • เวลาทำหน้าที่ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดในระหว่างมีการรบหรือการสงครามหรือการปราบปรามจลาจล หรือในระหว่างที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้าได้รับอันตรายด้วยหน้าที่ที่กระทำนั้น ให้มีอัตราตั้งแต่สามสิบถึงสามสิบห้าในห้าสิบส่วนของเงินเดือนเดือนสุดท้าย

           กรณีเสียชีวิต (ทายาทมีสิทธิรับ) ถ้าบุคคลได้รับอันตรายจนถึงแก่ความตายก่อนได้รับ บำนาญพิเศษ ก็ให้จ่ายบำนาญพิเศษให้แก่ทายาท โดยกรมบัญชีกลางเป็นผู้พิจารณากำหนดการได้รับบำนาญพิเศษตามสมควรแก่เหตุการณ์ผู้นั้น ตามอัตราดังนี้
  • ในยามปกติเป็นจำนวนกึ่งเงินเดือนเดือนสุดท้ายของผู้ตาย
  • ผู้มีหน้าที่ต้องไปราชการหรือปฏิบัติราชการโดยอากาศยานในอากาศหรือมีหน้าที่ต้องทำการโดดร่ม หรือต้องไปราชการหรือปฏิบัติราชการเรือดำน้ำ หรือหน้าที่ต้องทำการดำน้ำ หรือมีหน้าที่ทำการกวาดทุ่นระเบิด หรือมีหน้าที่ขุด ทำลาย หรือประกอบวัตถุระเบิด หรือมีหน้าที่เกี่ยวกับไอพิษ หรือเวลาทำหน้าที่ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ในระหว่างที่มีการรบหรือสงคราม หรือมีการปราบปรามจลาจล หรือในระหว่างที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้าได้รับอันตรายด้วยหน้าที่ที่กระทำนั้น ให้มีอัตราเป็นสี่สิบในห้าสิบส่วนแห่งเงินเดือนเดือนสุดท้ายของผู้ตาย

         ทายาทผู้มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษ
  • บุตร เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งบุตรบุญธรรม
  •      - ให้มีสิทธิได้รับจนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (แต่ถ้าอายุยังไม่ครบ 20 ปีในวันที่ผู้ก่อให้เกิด สิทธิตายให้รับต่อไปจนอายุครบ 20 ปี แต่ถ้ากำลังศึกษาอยู่ให้รับต่อไปแต่ต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์)
         - ถ้าพิการทุพพลภาพอยู่ก่อนเวลาที่ผู้ก่อให้เกิดสิทธิตาย มีสิทธิรับได้ตลอดระยะเวลาที่ทุพพลภาพอยู่)
  • บิดามารดาให้ได้รับตลอดชีวิต
  • คู่สมรสให้ได้รับตลอดชีวิต เว้นแต่ทำการสมรสใหม่

         การแบ่งส่วนบำนาญพิเศษให้ทายาท
  • บุตร 1 หรือ 2 คนได้ 2 ส่วน ถ้า 3 คนขึ้นไปได้ 3 ส่วน
  • บิดามารดา 1 ส่วน
  • คู่สมรส 1 ส่วน


         เอกสารอ้างอิง
  • พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494
  • พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539
  • ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการขอรับและการจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2527
  • ข้อบังคับ กห. ว่าด้วยบุคคลที่ทำหน้าที่ทหารและการกำหนดส่วนบำนาญพิเศษ พ.ศ.2497